ประเทศไทยมี 3 ฤดู ร้อน – ฝน – หนาว ก็จริงอยู่ อีกทั้งในบางพื้นที่ยังต้องเผชิญกับช่วงมรสุมอีกบ่อย ๆ ทำให้มีฝนตกชุกต่อเนื่องกันหลายวัน เราอาจเคยได้ยินคนโบราณกล่าวกันถึงเรื่อง “ห้ามก่อสร้างในหน้าฝน” จังหวะที่เหมาะแก่การเริ่มงานก่อสร้างคือเดือนสี่ (ตามปฏิทินจันทรคติ) ซึ่งคำกล่าวเหล่านี้มีส่วนที่เป็นความจริงสมเหตุสมผลอยู่ รับฟังไว้ก็ไม่เสียหายครับ ผู้เชี่ยวชาญด้านงานรับเหมาก่อสร้างจาก BKL รวบรวมปัญหาที่โครงการก่อสร้างต้องเผชิญในช่วงฝนตกชุก พร้อมเทคนิคการป้องกันแก้ไขมาฝากกันครับ ไปดูกันเลย
1. สภาพพื้นที่รอบโครงการก่อสร้าง
เมื่อฝนตกติดต่อกันลงมาเป็นระยะเวลานาน จะทำให้พื้นดินรอบ ๆ โครงการก่อสร้างเปียกเฉอะแฉะ ดินมีความอ่อนตัว ยากต่อการเข้าถึงของรถและการเดินของทีมช่างหน้างาน ซึ่งนั่นจะทำให้งานก่อสร้างล่าช้าและจะต้องใช้ความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อระบบงานก่อสร้างที่อยู่ใต้ดิน เช่น งานฐานราก งานเดินระบบท่อ เป็นต้น
การแก้ไข
- หาแผ่นไม้หรือแผ่นพลาสติกมาปูพื้น เพื่อแก้ปัญหาหน้าดินชั่วคราว
- หากโครงการก่อสร้างมีฐานรากใหญ่และอยู่ลึกจากผิวดินมากกว่า 1.50 เมตร โดยเฉพาะงานรับเหมาก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่ ควรมีการประเมินการพังทลายของหลุมดิน ทำระบบป้องกันการพังทลายโดยใช้เสาเข็มไม้กดล้อมไว้ก่อนขุดดิน นอกจากนี้ยังควรขุดบ่อซับน้ำเพื่อรองรับน้ำฝนที่ไหลมาและติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วย
- ป้องกันและตรวจเช็คระบบระบายน้ำ อย่าปล่อยให้มีเศษวัสดุหรือดินไหลลงไปปิดกั้นการระบายน้ำ หากมีการอุดตันจะต้องทำการลอกท่อ
2. ความปลอดภัยในโครงการก่อสร้าง
การก่อสร้างในช่วงเวลาฝนตกยิ่งต้องระวังเรื่องความปลอดภัยให้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องไฟฟ้า จึงควรมีการวางแผนเตรียมรับมือก่อนฝนจะตกลงมา
การเตรียมตัว
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีการเดินสายไฟบนพื้น ให้เดินสายไฟโดยใช้เสาสูงมารองรับแทน
- ติดตั้งแผงสวิตซ์ไฟและคัตเอาต์ในบริเวณที่มีหลังคาปกคลุม ฝนสาดไม่ถึง
- งดทำงานในพื้นที่โล่งแจ้ง งานปีนป่ายที่สูงทุกประเภท
3. การจัดเก็บวัสดุ
วัสดุก่อสร้างหลายประเภทไม่ถูกกับน้ำ ไม่ว่าจะเป็น เหล็ก ปูนซีเมนต์ หรือกองทราย ก็ตาม จะต้องมีการจัดเตรียมสถานที่ยกพื้นสูง มีหลังคา และใช้ผ้าใบหรือแผ่นพลาสติกคลุมทับวัสดุเหล่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้สัมผัสกับละอองน้ำและความชื้น หากมีวัสดุใดเกิดความเสียหายควรหลีกเลี่ยง ไม่นำมาใช้งาน เพราะวัสดุนั้นมีคุณสมบัติที่เปลี่ยนไปแล้ว อาจทำให้งานก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานได้
4. งานทาสี
ฤดูฝนเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับงานทาสี ก่อนขั้นตอนลงมือทาสีบนพื้นผิวต่าง ๆ ทีมช่างจะมีการตรวจสอบความเปียกชื้นบนผนัง เพื่อป้องกันปัญหาสีโป่งพอง หลุดล่อน และการเกิดเชื้อราขึ้นในเนื้อสีได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรอให้ผนังแห้งสนิทเท่านั้น นอกจากนั้นยังควรดูทีท่าของฟ้าฝนด้วย ไม่ใช่ว่าเริ่มทาสีตอนท้องฟ้าสดใส แต่ยังไม่ทันเสร็จงานก็โดนฝนมาก่อกวนซะก่อน
5. ต้นทุนก่อสร้างบานปลาย
ในช่วงหน้าฝน วัสดุบางประเภทจะมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากมีขั้นตอนการผลิตที่ยากขึ้น เช่น อิฐมอญ เป็นต้น รวมถึงการขนส่งก็เป็นไปด้วยลำบากมากกว่าช่วงอื่น ๆ และเมื่อฝนตกลงมา ทีมช่างต้องหยุดการทำงานบางส่วน ทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงทำให้งานล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้ ต้นทุนด้านค่าแรงก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย
การป้องกัน
บริษัทรับเหมาก่อสร้างควรมีการวางแผนตารางการทำงานอย่างรัดกุม ประเมินระยะเวลาที่งานอาจล่าช้า และเตรียมงบประมาณสำรองเผื่อเอาไว้
นอกจากฝนจะสร้างปัญญาให้กับโครงการก่อสร้างแล้ว ก็ยังมีประโยชน์อยู่บ้างนะครับ อย่างเช่น ช่วยให้เราตรวจเช็คหารอยรั่วตามจุดต่าง ๆ ของโครงสร้างอาคารได้สะดวกขึ้นและทำการแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ดังนั้น การก่อสร้างในหน้าฝน ไม่ใช่ข้อห้ามที่ไม่สามารถทำได้ซะทีเดียว โครงการก่อสร้างต่าง ๆ สามารถดำเนินไปได้ในช่วงฝนตกแบบนี้ แต่ต้องมีการเตรียมตัวให้ดี ให้พร้อมรับมือกับปัญหาดังที่กล่าวไป